อัปเดตคนทำงานต้องรู้ เงินชดเชยประกันสังคม กรณีลาออก

ถือเป็นเงื่อนไขตามกฎหมายของประเทศไทยเมื่อใดก็ตามที่บุคคลเข้าทำงานกับหน่วยงานที่เป็นนิติบุคคล โดยมีการรับเงินค่าจ้างจะต้องได้รับสิทธิ์เข้าสู่ระบบประกันตนเอง หรือที่เรียกว่า “ประกันสังคม” มาตรา 33 แบ่งเป็นการชำระรายเดือนอย่างละครึ่งระหว่างบริษัทกับตัวผู้ประกันตน หากเจ็บป่วย หรือมีเหตุผลตามเงื่อนไขที่ไม่สามารถทำงานได้ เงินชดเชยส่วนนี้จะเข้ามาดูแล ซึ่งหลายคนอาจกำลังสงสัยว่า เงินชดเชยประกันสังคม กรณีลาออกผู้ประกันตนจะได้รับแบบไหนบ้าง มาศึกษาข้อมูลกันเลย

อัปเดตล่าสุดเงินชดเชยประกันสังคม กรณีลาออกเป็นอย่างไรบ้าง

ด้วยสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าหลายคนต้องออกจากงานในหลายรูปแบบ หลากกรณี ซึ่งกลายเป็นข้อสงสัยว่าแบบนี้ทางประกันสังคมที่ต้องส่งชำระเข้ากองทุนประกันสังคมทุกเดือนจะเข้ามาช่วยเหลือในด้านไหนบ้าง จึงขอสรุปเงินชดเชยประกันสังคม กรณีลาออกมาให้แบบเข้าใจง่าย ซึ่งคนทำงานจำนวนไม่น้อยอาจยังสับสนว่าสรุปแล้วตอนนี้ได้รับเงินชดเชยด้วยอัตราจ่ายเท่าไหร่บ้าง

เดิมทีตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2563 ทางสำนักงานประกันสังคมได้มีการปรับอัตราการจ่ายเงินชดเชยกรณีว่างงานให้กับผู้ประกันตนทั้งกรณีการถูกเลิกจ้าง และลาออก / หมดสัญญาจ้าง ดังนี้

1. ผู้ปฏิบัติงานถูกเลิกจ้าง

หากคนที่ทำงานถูกเลิกจ้างจากองค์กรจะได้รับเงินชดเชยการว่างงานในอัตรา 70% ของเงินค่าจ้างล่าสุด ซึ่งคำนวณจากฐานเงินเดือนไม่เกิน 15,000 บาท / เดือน ระยะเวลาการรับเงินชดเชยทั้งสิ้นไม่เกิน 200 วัน จากเดิมจะได้เพียงอัตรา 50% ของเงินค่าจ้างล่าสุด ระยะเวลาไม่เกิน 180 วัน

2. ผู้ปฏิบัติงานลาออก / หมดสัญญาการจ้างงาน

กรณีที่คนทำงานลาออกจากงาน หรือหมดสัญญาการจ้างงานแล้วไม่ได้รับการทำสัญญาต่อ จะได้รับเงินชดเชยการว่างงานในอัตรา 45% ของเงินค่าจ้างล่าสุด ซึ่งคำนวณฐานจากฐานเงินเดือนไม่เกิน 15,000 บาท / เดือน ระยะเวลาในการรับเงินชดเชยทั้งสิ้นไม่เกิน 90 วัน จากเดิมจะได้เพียงอัตรา 30% ของเงินค่าจ้างล่าสุด ระยะเวลาไม่เกิน 90 วัน เท่านั้น

อัตราใหม่ที่กล่าวมานี้จะถูกใช้และครบกำหนดในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565

ทั้งนี้ได้มีการประกาศเงื่อนไขใหม่ออกมาเป็นที่เรียบร้อยจากสำนักงานประกันสังคมแล้วว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2565 เป็นต้นไป เงินทดแทนกรณีว่างงานทั้งการถูกเลิกจ้างและการลาออกจากงาน / หมดสัญญาการจ้างงานจะถูกปรับ “ลดลง” ให้เหลือเท่ากับอัตราเดิมนั่นคือ

  • ถูกเลิกจ้างงานจะได้รับเงินชดเชย 50% ของเงินค่าจ้างล่าสุด ระยะเวลาไม่เกิน 180 วัน ภายใต้เงื่อนไขต้องส่งเงินสมทบเข้าสู่ระบบประกันสังคมครบ 6 เดือน ภายใน 15 เดือน ก่อนว่างงาน
  • ลาออก / หมดสัญญาจ้างงานจะได้รับเงินขดเชย 30% ของเงินค่าจ้างล่าสุด ระยะเวลาไม่เกิน 90 วัน ภายใต้เงื่อนไขต้องส่งเงินสมทบเข้าสู่ระบบประกันสังคมครบ 3 เดือน ภายใน 15 เดือน ก่อนว่างงาน

ขั้นตอนสำหรับผู้ที่ต้องการลงทะเบียนว่างงานเพื่อรับเงินชดเชย

ใครที่คิดว่าหากต้องการรับเงินชดเชยประกันสังคม กรณีลาออกต้องเดินทางไปยังสำนักงานประกันสังคมหรือกรมการจัดหาแรงงานตั้งแต่เริ่มต้นหรือไม่ ตอนนี้สามารถดำเนินการได้ผ่านระบบออนไลน์สำหรับลงทะเบียนเบื้องต้น เพียงทำตามขั้นตอนดังนี้

  1. กดเข้าไปที่เว็บไซต์ https://empui.doe.go.th/auth/index ของกรมจัดหาแรงงาน แล้วทำการลงทะเบียนตามขั้นตอนที่ทางเว็บกำหนดให้ครบถ้วน
  2. หลังการลงทะเบียนให้ยื่น “แบบคำขอรับผลประโยชน์ ในกรณีว่างงาน” หรือ “แบบ สปส. 2-01/7 กับสำนักงานประกันสังคมใกล้บ้าน หรือที่ตนเองสะดวก พร้อมแนบเอกสารดังต่อไปนี้
  • สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน พร้อมบัตรประชาชนตัวจริง
  • รูปถ่ายหน้าตรง 1 นิ้ว จำนวน 1 รูป อายุรูปถ่ายไม่เกิน 6 เดือน
  • เอกสาร / หนังสือรับรองการออกจากงาน / เอกสาร สปส. 6-09 หรือสำเนา (ถ้ามี)
  • สำเนาสมุดบัญชีธนาคารประเภทออมทรัพย์ ซึ่งหน้าแรกต้องระบุชื่อ-สกุลเดียวกับผู้ประกันตนที่ทำการลงทะเบียนว่างงานไว้เท่านั้น

3. เมื่อยื่นเอกสารเรียบร้อยทางสำนักงานประกันสังคมจะให้คุณรายงานตัวตามวัน-เวลาที่กำหนด

จะสะดวกไปรายงานตัวกับทางสำนักงานหรือรายงานตัวผ่านทางระบบออนไลน์ก็ได้เช่นกัน

อีกเรื่องที่ต้องรู้นอกจากเงินชดเชยประกันสังคม กรณีลาออกแล้ว ลูกจ้าง (ผู้ประกันตน” ยังคงสามารถใช้สิทธิ์ของประกันสังคม มาตรา 33 ต่อได้อีก 6 เดือน ไม่ต้องทำจ่ายเงินสมทบใด ๆ ทั้งสิ้น เช่น ค่ารักษาพยาบาล, ค่าคลอดบุตร, ค่าทันตกรรม เป็นต้น

อัปเดตข้อมูลเงินชดเชยประกันสังคม กรณีลาออกเหล่านี้เชื่อว่าจะช่วยให้บรรดาลูกจ้าง มนุษย์เงินเดือน หรือคนที่กำลังคิดออกจากงานด้วยเหตุผลต่าง ๆ วางแผนเพื่อรับเงินชดเชยของตนเองง่ายขึ้นกว่าเดิม ไม่เสียสิทธิ์ไปแบบฟรี ๆ ด้วย