ภาษีนิติบุคคล เรื่องที่คนเริ่มต้นทำธุรกิจต้องศึกษาอย่างเข้าใจ

ในการก่อตั้งธุรกิจรูปแบบบริษัท ห้างหุ้นส่วนจำกัด และทุกประเภทที่อยู่ในรูปแบบของ “นิติบุคคล” นอกจากการวางแผนด้านการบริหาร การตลาด หรือเรื่องบัญชีแล้ว อีกสิ่งที่ต้องทำความเข้าใจนั่นคือ “ภาษีนิติบุคคล” เพราะนี่คืออีกประเภทของการเสียภาษีที่บรรดานิติบุคคลเมื่อเข้าข่ายจัดตั้งตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มีรายได้ มีกำไรสุทธิต้องดำเนินการอย่างถูกต้อง จึงขอพานักธุรกิจมือใหม่ทุกคนมาศึกษาเรื่องนี้ให้เข้าใจมากที่สุด ทำได้ถูกต้อง ไม่มีปัญหาตามมาภายหลัง

การคำนวณเงินได้เพื่อชำระภาษีนิติบุคคล

สำหรับธุรกิจที่ต้องเสียภาษีนิติบุคคลจะมาจากการคำนวณเงินได้หับลบกับค่าใช้จ่ายตามจริงในการทำธุรกิจ (มีหลักฐานชัดเจน) จนเหลือเป็นกำไรสุทธิทางภาษีในแต่ละปีที่ดำเนินธุรกิจ ซึ่งรอบระยะเวลาปกติคือ 1 มกราคม – 31 ธันวาคม นำมา x กับอัตราภาษีที่เป็นไปตามกฎหมายได้กำหนดเอาไว้ จากนั้นจึงนำส่งข้อมูลดังกล่าวให้กับกรมสรรพากรภายใน 150 วัน เมื่อครบรอบของการปิดบัญชี (ปกติจึงไม่เกินวันที่ 30 พฤษภาคม ของปีถัดไป) โดยใช้แบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคล หรือที่เรียกกันว่า ภ.ง.ด.50 นั่นเอง

อัตราภาษีนิติบุคคลที่เป็นไปตามกฎหมายกำหนด

ตามพระราชกฤษฎีกาฯ ฉบับที่ 583 พุทธศักราช 2558 ได้มีการระบุในเรื่องของอัตราภาษีนิติบุคคลเอาไว้คือ ในกรณีของบริษัท ห้างหุ้นส่วนจำกัดทั่วไป หากมีกำไรเกิน 3 ล้านบาท จะเสียในอัตราภาษี 20%

ทว่ากรณีบริษัทมีทุนจดทะเบียนไม่เกิน 5 ล้านบาท มีรายได้ไม่ถึง 30 ล้านบาท จะได้รับสิทธิ์การยกเว้นภาษีในส่วนของกำไรสุทธิ 3 แสนบาทแรก และสามารถเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลด้วยอัตราภาษีเพียง 15% หากมีกำไรสุทธิตั้งแต่ 300,001 บาท และไม่เกิน 3 ล้านบาท

แต่ถ้าหากบริษัทดังกล่าวมีกำไรเกิน 3 ล้านบาทขึ้นไป ก็จะต้องเสียภาษีนิติบุคคลตามอัตราภาษีสูงสุดที่ 20% เหมือนกับบริษัททั่วไปนั่นเอง

การยื่นภาษีนิติบุคคลครึ่งปี

หลายคนอาจยังมีข้อสงสัยว่าปกติแล้วการยื่นภาษีนิติบุคคลจะต้องดำเนินการปีละกี่ครั้งกันแน่ คำตอบคือ ไม่ใช่แค่การยื่น ภ.ง.ด.50 สำหรับภาษีสิ้นปีเท่านั้น แต่จะต้องมีเรื่องของการยื่น ภ.ง.ด.51 หรือการยื่นภาษีกลางปีเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งการยื่นภาษีประเภทนี้จะใช้วิธีแบบเดียวกับการคำนวณรายได้ของการยื่นปลายปี แต่เป็นการคำนวณเพียงครึ่งปีคือระหว่างวันที่ 1 มกราคม – 30 มิถุนายน ของแต่ละปีเท่านั้น ซึ่งทางบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนจำกัดมีหน้าที่ต้องยื่นส่งให้กับกรมสรรพากรภายใน 2 เดือน ทั้งนี้ยังมีเงื่อนไขที่คนทำธุรกิจสามารถเลือกได้ในการยื่นภาษีครึ่งปี คือ

การยื่นแบบภาษีนิติบุคคลครึ่งปีจากกำไรสุทธิเกิดขึ้นจริงในรอบ 6 เดือน

  • เสียภาษีจากการมีกำไรสุทธิจริงในรอบ 6 เดือนแรก วิธีนี้จะไม่ต้องจ่ายภาษีเพิ่มกรณีประมาณการแล้วขาดเกินกว่า 25%
  • ผู้ยื่นภาษีมีหน้าที่ในการจัดทำงบการเงินเพื่อแสดงรายได้สุทธิในเวลา 6 เดือนแรกของปี มีการลงลายมือของผู้สอบบัญชีก่อนยื่นให้กับกรมสรรพากร

การยื่นแบบภาษีนิติบุคคลครึ่งปีจากประมาณการกำไรสุทธิตลอดปี

  • ผู้ประกอบการจะต้องประมาณการกำไรสุทธิทั้งหมดในรอบปีนั้น ๆ จึงไม่ต้องทำงบการเงินเพื่อยื่นต่อกรมสรรพากร
  • อย่างไรก็ตามหากสรุปตัวเลขออกมาแล้วปรากฏกำไรสุทธิที่เกิดขึ้นสูงเกินกว่าประมาณการ 25% ต้องมีการจ่ายภาษีเพิ่มเติม 20% จากการประมาณการที่ผิดพลาดไปเกิน 25% ตามมาตรา 67 ตรี

สถานที่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีนิติบุคคล

หากเป็นในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ สามารถยื่นได้กับสำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาตามท้องที่ที่สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ ส่วนต่างจังหวัดให้ยื่นกับที่ว่าการอำเภอหรือที่ว่าการกิ่งอำเภอตามท้องที่ที่สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ หรือยื่นกับสำนักงานสรรพากรอำเภอกรณีไม่ได้ตั้งอยู่กับที่ว่าการอำเภอ

อย่างไรก็ตามในปัจจุบันเพื่อความสะดวกของการยื่นแบบแสดงรายการภาษีนิติบุคคลสามารถดำเนินการยื่นผ่านออนไลน์กับเว็บกรมสรรพากรได้ทั้ง ภ.ง.ด.50 และ ภ.ง.ด.51

นี่คือข้อมูลเกี่ยวกับภาษีนิติบุคคลเบื้องต้นที่บรรดาคนทำธุรกิจควรต้องศึกษาเอาไว้ด้วย ช่วยให้เกิดความเข้าใจและทำได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายมากขึ้น นอกจากช่วยให้ธุรกิจของคุณดำเนินไปอย่างมีเสถียรภาพ ก็ไม่ต้องกังวลในด้านการโดนจัดเก็บภาษีย้อนหลังซึ่งจะมีเงื่อนไขค่าปรับต่าง ๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง กลายเป็นการเพิ่มต้นทุนในการทำธุรกิจมากขึ้นไปอีก